เข้าสู่สังคมไร้เงินสดต้องรู้! ระบบ e-payment คืออะไร มีกี่แบบ?


ทุกวันนี้ทุกคนคงทราบดีว่าการโอนเงิน ชำระเงิน หรือการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ สามารถทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมาก เพียงแค่คุณมีโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว!  สิ่งเหล่านี้เราเรียกว่าระบบ e-payment (Electronic Payment System) นอกจากเพิ่มความสะดวกในการจับจ่ายซื้อของแล้วยังเข้ามาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของเราเป็นอย่างมากอีกด้วย ซึ่งช่องทางการชำระเงินผ่านระบบ e-payment นี้ก็มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท จะมีประเภทไหนบ้าง และเหมาะกับกลุ่มผู้ใช้งานแบบไหน เราจะมาทำความรู้จักไปพร้อมกัน


e-payment คืออะไร? 

ระบบ e-payment (Electronic Payment System) คือ ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานแทนการถือเงินสดได้อย่างสะดวก ช่วยให้การชำระเงินหรือโอนเงินระหว่างกันทำได้ง่าย รวดเร็ว โดยสามารถใช้งานระบบ e-payment นี้ได้ผ่านทางสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ที่มีระบบอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางการเชื่อมต่อ ซึ่งผู้ให้บริการระบบ e-payment นั้นล้วนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งหมด

ระบบ e-payment มีกี่ประเภท?

ในปัจจุบันระบบ e-payment  ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยถูกแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ดังนี้

 

1.   เครื่องรูดบัตร EDC หรือ Electronic Data Capture

เป็นเครื่องที่ร้านค้าติดตั้งเพื่อรับชำระค่าสินค้าและบริการ รองรับการชำระเงินหลายรูปแบบตามแต่ผู้ให้บริการแต่ละเจ้าจะเปิดให้บริการ โดยตัวเครื่องรูดบัตรในปัจจุบันสามารถรองรับระบบรับชำระได้ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต สแกนจ่ายด้วย QR Code หรือ E-Wallet ต่างๆ เช่น ThaiQR , Alipay, True Money, Line Pay อีกทั้งยังสามารถใช้รับผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิตของธนาคารได้อีกด้วย

2.   การชำระผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Payment)

บริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ประเภทนี้มักจะรวมเข้ากับแอปพลิเคชันของร้านค้า ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกซื้อสินค้าในแอปพลิเคชัน และชำระเงินผ่านสมาร์ตโฟนที่มีอินเทอร์เน็ตได้ทันที โดยให้ตัดเงินจากบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต, จ่ายผ่านแอปฯ ธนาคาร (Mobile banking), หรือ จ่ายด้วย Thai QR หรือ ระบบ E-Wallet ต่างๆ 

3.   บริการหักบัญชี (Clearing)

เป็นบริการรับชำระเงินที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและยืนยันคำสั่งที่จะหักเงินในบัญชีธนาคาร ตามที่ได้มีการผูกบัญชีหรือทำข้อตกลงไว้กับธนาคาร เพื่อให้เกิดความแม่นยำและรวดเร็วในการชำระเงิน

4.   บริการรับชำระเงินแทน

บริการที่ให้บุคคลหรือธุรกิจสามารถชำระเงินหรือรับเงินผ่านตัวกลางที่สาม โดยไม่ต้องทำธุรกรรมโดยตรงกับผู้ขายหรือผู้ให้บริการ 

5.   บริการสวิตชิ่งในการชำระเงิน (Transaction Switching) 

เป็นบริการที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการ e-payment กับผู้รับบริการ e-payment รับส่งข้อมูลรายการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้ให้บริการตามที่ตกลงกัน 

6.   ระบบเครือข่ายบัตร (Payment Card Network) 

เป็นบริการชำระเงินผ่านบัตร ATM, บัตรเครดิตและบัตรเดบิต โดยใช้วิธีการส่งข้อมูลการเงินของผู้ใช้ไปยังผู้ให้บริการบัตร ซึ่งยอดเงินที่ต้องชำระจะถูกหักจากบัญชีเงินฝากของผู้ถือบัตรทันที ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามฟังก์ชันการใช้งานของแต่ละบัตร เช่น บัตรเครดิตจะถูกเรียกเก็บยอดชำระที่ได้ใช้จ่ายไปตามรอบที่ตกลงกันไว้ หากไม่จ่ายก็ต้องเสียดอกเบี้ยและค่าปรับตามมา 

7.   ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) 

เป็นระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์  โดยผู้ใช้งานสามารถสร้างบัญชี e-Money ขึ้นมาและเติมเงินเข้าไปในบัญชีผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อชำระค่าบริการหรือสินค้า หรือที่เรียกว่า e-Wallet เช่น e-Wallet แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถืออย่าง True Money, Alipay, เป๋าตัง หรือ Line Pay เป็นต้น 

8.   ระบบการชำระดุล (Settlement) 

เป็นกระบวนการรับชำระเงินที่สร้างความสะดวกในการโอนเงินหรือทรัพย์สินระหว่างฝ่ายต่างๆ ในรูปแบบการบริการชำระเงินแบบล่วงหน้า โดยจะมีการหักเงินในบัญชีของผู้ใช้เพื่อนำไปชำระแก่เจ้าหนี้แบบอัตโนมัติ เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์, การชำระเงิน และธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
 

ระบบ e-payment เหมาะกับกลุ่มผู้ใช้งานประเภทไหนบ้าง? 

ระบบ e-payment เป็นการชำระเงินที่มีทั้งความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา และมีระบบต่างๆ ที่สามารถเลือกใช้ได้ตรงตามความต้องการของแต่ละคน จึงเหมาะกับกลุ่มผู้ใช้งานหลากหลาย ดังนี้ 

 

·    ผู้ที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว: 

ระบบ e-payment ช่วยลดเวลาในการทำธุรกรรมการชำระเงิน และสามารถเลือกใช้บริการการเงินตามความต้องการได้อย่างหลากหลาย เช่น ช้อปปิ้งออนไลน์ หรือจ่ายค่าบริการต่างๆผ่านมือถือ 

·    นักธุรกิจและผู้ประกอบการ: 

ระบบ e-payment จะช่วยให้นักธุรกิจและผู้ประกอบการทำธุรกรรมการเงินได้หลากหลายช่องทาง สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น 

 

·    ผู้ที่ต้องการความปลอดภัยสูง: 

ระบบ e-payment มีมาตรการความปลอดภัยสูง  จึงช่วยปกป้งข้อมูลทางการเงินของคุณได้เป็นอย่างดี 

 

จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันระบบการชำระเงินหรือการทำธุรกรรมทางการเงินในประเทศไทยมีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น และในอนาคตระบบ e-payment มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกอย่างแน่นอน โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการและความต้องการของตลาดในแต่ละช่วง รวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ร่วมด้วย 

สนใจบริการจาก GHL สามารถพูดคุยกับเราได้แล้ววันนี้ 

โทร. 0-2440-0111

คลิก https://th.ghl.com/contact